26 C
Bangkok
Saturday, December 14, 2024
Mitsubishi
มอเตอร์ไซค์​ honda
AD Banner_900x180
FORD900x192px_1
Honda_900x192px 2024
previous arrow
next arrow

จุฬาฯ คิดค้น นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคโควิดใน 1 นาที การันตรีสิทธิบัตรระดับชาติ

ผศ.ดร.นพ.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ หัวหน้าหน่วยวิจัย Nanomedicine Research Unit จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จับมือร่วมกันคิดค้น ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรค Medical Antiseptic and Moisturizing Spray นวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ผลการทดสอบการฆ่าเชื้อโควิด-19 พบว่า สามารถฆ่าเชื้อตายภายใน 1 นาที พร้อมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นนวัตกรรมเพื่อสุขภาพเป็นของที่ระลึก ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2564 หรือ Thailand Research Expo 2021 และได้รับการจดแจ้งสิทธิบัตรระดับชาติแล้ว

ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ กล่าวถึงความเป็นมาของการพัฒนานวัตกรรมน้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่แพร่กระจายทั่วประเทศที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดเชื้อมีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวขาดแคลนและมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไปในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งแอลกอฮอล์ (Alcohol) ถือเป็นองค์ประกอบหลักของเจลล้างมือหรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อทดแทนการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ลดการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัส โดยแอลกอฮอล์ที่นิยมใช้เป็นองค์ประกอบหลัก คือ เอทานอล (Ethanol หรือ Ethyl alcohol) มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สามารถระเหยได้ และมีฤทธิ์ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงถูกนำมาใช้สำหรับกำจัดและยับยั้งการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 อย่างแพร่หลายทั้งรูปแบบเจลและสเปรย์โดยไม่ต้องล้างน้ำออก แต่จากคุณสมบัติของแอลกอฮอล์ที่เป็นสารทำให้เกิดการคายน้ำ ทำให้เมื่อใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวแห้งแตก และหยาบกระด้าง จึงทำให้เกิดแนวคิดที่อยากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยากำจัดเชื้อจุลชีพก่อโรคที่ปราศจากแอลกอฮอล์ แต่ยังคงมีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อจุลชีพก่อโรค จึงเป็นที่มาของการพัฒนาน้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรค Medical Antiseptic and Moisturizing Spray ขึ้น

น้ำยาฆ่าเชื้อจุลชีพก่อโรคที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ไม่ก่อให้เกิดการติดไฟ เป็นน้ำยาฆ่าเชื้อแบบสัมผัสผิวหนังได้ สูตรละลายน้ำ กลิ่นหอม ผ่านการทดสอบการระคายเคืองในมนุษย์ พบว่าไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิว มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ดี และจากผลการทดสอบการฆ่าเชื้อโควิด-19 พบว่า สามารถฆ่าเชื้อภายใน 1 นาที โดยโครงการการวิจัยนวัตกรรมนี้ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาสูตรน้ำยาฆ่าเชื้อจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ขณะนี้ โครงการวิจัยนวัตกรรมได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คณะผู้วิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จดแจ้งทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิทธิบัตรระดับชาติ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เพื่อนำไปจัดจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ใช้ ซึ่งผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อนี้อยู่ในรูปแบบสเปรย์ เพื่อใช้สำหรับพ่นผิวกายและบริเวณอื่นๆ ที่ต้องการ โดยจะให้ความชุ่มชื้น และทำความสะอาดโดยไม่ต้องล้างน้ำออก สามารถพ่นซ้ำๆ ได้ทุก 4 ชั่วโมง แต่ให้หลีกเลี่ยงการพ่นบริเวณดวงตา เยื่อบุผิวช่องปากและจมูก โดยสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานถึง 2 ปี

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @cmic.chula

Related Articles

Stay Connected

269FansLike
2,760SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles