สถาบันยานยนต์ (TAI) และ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้ร่วมจัด “การประชุมหารือเพื่อความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น ครั้งที่ 4” ในรูปแบบออนไลน์ขึ้นประกอบด้วยนายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ในฐานะผู้แทนฝ่ายไทย นายฟุคุนากะ เท็ตสึโร่ อธิบดี แผนกยานยนต์ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ ญี่ปุ่น) นายทาเคทานิ อัทสึชิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ ผู้แทนจาก Japan Automobile Manufacturers Association (JAMA) ผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยและญี่ปุ่น
การประชุมในครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายยานยนต์ของประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอภาพรวมของนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และมอบหมายให้หารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนของการออกกฎหมาย หรือกฎระเบียบฯ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงบประมาณที่จะใช้สนับสนุน จากนี้หากมีความคืบหน้าก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลแก่ฝ่ายญี่ปุ่นในลำดับต่อไป ในส่วนของฝ่ายญี่ปุ่น แผนกยานยนต์ ของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น นำสเนอนโยบายยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และผู้แทนจากสมาคม JAMA กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ประเทศญี่ปุ่นตามนโยบายภาครัฐ ฝ่ายประเทศไทยเห็นว่าข้อมูลด้านนโยบายของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีประโยชน์อย่างยิ่ง จึงขอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ในลำดับต่อไป โดยในช่วงเช้าโดยมีผู้เข้าร่วมประชุมออนไลน์จากฝ่ายญี่ปุ่นจำนวน 67 คนและฝ่ายไทยจำนวน 38 คน
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสองประเทศในสาขายานยนต์สมัยใหม่ ฝ่ายญี่ปุ่นโดย แผนกยานยนต์ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ ญี่ปุ่น) ได้เสนอหัวข้อของความร่วมมือบนพื้นฐานความร่วมมือ อาทิ เรื่องการทดสอบแบตเตอรี่ ตามมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้า การรีไซเคิลยานยนต์ เป็นต้น จากข้อเสนอแนะดังกล่าว ด้านประเทศไทยเห็นว่าเป็นการดีในการกระชับร่วมมือนี้ให้แน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา พร้อมส่งผู้แทนของทั้งสองประเทศเข้าร่วมหารือจากนี้ต่อไป
นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “จากการประชุมเครั้งนี้ทำให้ทุกท่านได้รับทราบเกี่ยวกับข้อมูลนโยบายการสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ ของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย จากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ ในการร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้สำเร็จได้ในอนาคต ทำให้ได้แลกเปลี่ยนมุมมอง และเห็นแนวโน้มอย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้ทั้งสองฝ่ายสามารถนำไปใช้ในการจัดทำนโยบายการส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ ได้อย่างเหมาะสมกับภาคอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศมากขึ้น ตามแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภท จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับความร่วมมือที่ประเทศไทยและญี่ปุ่นมีร่วมกันตามขอบเขตของการลงนาม LOI (Letter of Intent) 3 ด้าน คือ 1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของประเทศ 2.การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ไทยสามารถผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ และ 3.การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงความรู้ด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า”
นายทาเคทานิ ประธาน เจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งกับการประชุมหารือในครั้งนี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยานยนต์ของทั้งสองประเทศจำนวนมาก นับเป็นเวลา 1 เดือน (วันที่ 13 มกราคม) หลังจากร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ที่ผ่านมา จึงเกิดการประชุมหารือเพื่อความร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ระหว่างไทยและญี่ปุ่นขึ้น ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือนโยบายยานยนต์และยานยนต์สมัยใหม่ของไทยและญี่ปุ่นอย่างตรงไปตรงมา การประชุมในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันถึงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือ ในการมุ่งมั่นดำเนินนโยบายยานยนต์สมัยใหม่และการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน”
สถาบันยานยนต์ ยังคงร่วมมือกับ เจโทร กรุงเทพฯ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ในพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและญี่ปุ่นให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และมุ่งมั่นในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต