สตุ๊ทการ์ท : พร้อมกับการมาถึงของปอร์เช่ บ็อกซเตอร์ (Boxster) รถสปอร์ต 911 ภายใต้รหัสการพัฒนา 996 ถือได้ว่าเป็นรุ่นบุกเบิก ตัวแทนแห่งการเป็นผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของยนตรกรรมสปอร์ตปอร์เช่ได้อย่างแท้จริง ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา บรรดาแฟน ๆ ต่างรู้สึกอัศจรรย์ในทันทีที่สายตาได้ประจักษ์กับรถสปอร์ตคันใหม่ที่ถูกเผยโฉมในงานมหกรรมยานยนต์ IAA International Motor Show จัดขึ้น ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt) เมื่อปี 1997
นี่คือรถยนต์ที่ก้าวข้ามผ่านทุกข้อจำกัดในขณะนั้น นอกจากงานดีไซน์อันเป็นอมตะของปอร์เช่ 911 และแนวคิดเครื่องยนต์วางท้าย สามารถการันตีได้ว่าทุกอย่างพัฒนาใหม่ทั้งหมด รถคันนี้ใช้น้ำในการระบายความร้อน แทนที่ระบบ Air cooling และใช้ชิ้นส่วนร่วมกับปอร์เช่ บ๊อกซเตอร์ (Boxster) รุ่นตัวถัง 986 ได้อย่างเหลือเชื่อ ตั้งแต่ด้านหน้าของรถจรดไปถึงเสา B-pillars ส่วนภายในห้องโดยสารของรถสปอร์ต 996 และ บ๊อกซเตอร์ (Boxster) ได้รับการตกแต่งในเอกลักษณ์เดียวกัน อีกสิ่งที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือขุมพลังเครื่องยนต์ 6 สูบนอน บ๊อกซเซอร์ ที่กำเนิดขึ้นใหม่นั้นล้วนเกิดจากความตั้งใจของบรรดาวิศวกร และนักออกแบบ ต้องการสร้างความฝันของพวกเขาให้กลายเป็นความจริง
August Achleitner รับบทบาทหัวหน้าส่วนงาน ‘Technical Product Planning, Vehicle Concepts และ Package รวมทั้งโครงการพิเศษตั้งแต่ปี 1989 ถึงปี 2000 และอีกหนึ่งในนั้นคือการเป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ซึ่งดูแลภาพรวมของ 996 vehicle concept กล่าวว่า มันถึงเวลาที่จะต้อง “ทำลายกรอบความคุ้นเคยเดิม ๆ” ปอร์เช่ต้องการยกระดับรถยนต์ให้ตอบรับกลุ่มเป้าหมายโดยตั้งระดับราคาที่สามารถเอื้อมถึงได้ เพื่อก่อให้เกิดยอดขายในปริมาณที่สูงขึ้น แนวคิดนี้นำมาสู่ไอเดียเกี่ยวกับการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันระหว่างปอร์เช่ บ็อกซเตอร์ และ 996 สำหรับปอร์เช่ 911 รุ่นใหม่ ยังคงมี DNA ของความเป็นสปอร์ต 911 อยู่เต็มตัวอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เครื่องยนต์ที่จะใช้ในการติดตั้งลงท้ายรถนั้น ยังไม่ชัดเจน แต่เราได้ทำการทดสอบในส่วนของขุมพลัง เนื่องจากเครื่องยนต์ระบบระบายความร้อนด้วยอากาศ 2 วาล์วต่อสูบ เป็นเทคโนโลยีที่เดินทางมาถึงทางตัน ไม่ว่าจะในแง่ของการปล่อยมลภาวะ และสมรรถนะ รวมทั้งเครื่องยนต์บ็อกเซอร์ 4 วาล์วระบายความร้อนด้วยอากาศ มีจุดอ่อนจากปัญหาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิในหลายจุด เราจึงไม่อาจนำมันมาใช้ได้อีกต่อไป ในปี 1989 เครื่องยนต์เบนซิน V8 เคยถูกนำมาวางลงท้ายรถ เพื่อการทดสอบ แต่แนวคิดนี้ก็ได้หยุดลง ดังนั้นจึงส่งผลให้เครื่องยนต์ บ็อกซเซอร์ 4 วาล์ว ระบายความร้อนด้วยน้ำ จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของเรา”
ภาพลักษณ์ที่ปรากฏของ 996 อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ Harm Lagaaij หัวหน้าทีมออกแบบในยุค 1990s เขายังคงจำได้ถึงความประหลาดใจต่อกลยุทธ์การสร้างรถสปอร์ตโรดสเตอร์ เครื่องยนต์วางกลาง และสปอร์ตคูเป้ เครื่องยนต์วางหลัง มีอัตลักษณ์ที่คล้ายคลึงกันตั้งแต่หน้ารถจนถึงเสา B-pillar และงานดีไซน์ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อมองถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในขณะนั้น ซึ่งเป็นภารกิจที่ท้าทาย แต่ด้วยความเชี่ยวชาญ เราเริ่มต้นชิ้นงานด้วยการเชื่อมโยงชิ้นส่วนที่แตกต่างกันระหว่างบ็อกซเตอร์ (Boxster) และ 996 และเนื่องด้วยจากข้อจำกัดของระยะเวลา นักออกแบบต้องปฏิบัติงานโดยตรงกับแบบจำลองขนาด 1:1 เพื่อให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกำหนด ปอร์เช่ระดมบุคลากรยอดฝีมือจำนวนมากเข้ามามีส่วนในงานนี้ ทีมของ Lagaaij เคยมีสมาชิกเป็นมากสูงสุดเป็นจำนวนถึง 80 ชีวิต
ความจริงที่ว่า 2 งานดีไซน์ของรถต้นแบบบ็อกซเตอร์ (Boxster) ถูกเลือกให้นำมาจัดแสดงในมหกรรมยานยนต์ Detroit Motor Show เมื่อปี 1993 คือปัจจัยหลักของความสำเร็จในการเปิดตัวครั้งนั้น รถต้นแบบบ็อกซเตอร์ (Boxster) สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับฝูงชนผู้เข้าชมงาน ได้รับการขนานนามว่า ‘Best of Show’ “ผมรับรู้ได้ในทันทีว่าชิ้นส่วนด้านหน้ารถที่จัดแสดง จะถูกนำมาใช้กับ 996 เช่นเดียวกัน สิ่งที่หลายคนลืมไปแล้ว นั่นคือเรากำลังทำงานกับรถยนต์ 3 เวอร์ชั่นพร้อมกัน ทั้ง 996, 986 และรถต้นแบบ เพื่อความรวดเร็ว มิฉะนั้น มันอาจจะใช้เวลานานเกินไปกว่าที่สาธารณะชนจะได้รู้จักกับรถเหล่านี้ และแน่นอนว่าหัวหน้าทีมออกแบบตระหนักถึงความเสี่ยงของการผสมปนเปกันระหว่าง 996, 911 และ 986 บ็อกซเตอร์ (Boxster) แต่มันมีความน่ากังวลใจอื่น ๆ ที่สร้างแรงกดดันมหาศาล นั่นคือ ความกดดัน และความจำเป็นที่จะต้องรักษาเสถียรภาพของบริษัทเอาไว้ให้ได้ คือสิ่งสำคัญสูงสุด” Harm Lagaaij กล่าว
August Achleitner กล่าวต่ออีกว่า แนวคิดใหม่ในการใช้ชิ้นส่วนร่วมกัน ส่งผลต่อทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระบบช่วงล่างไปจนถึงระบบไฟฟ้า ตัวถัง และภาพรวมตัวรถทั้งหมด “โปรแกรมจำลองสถานการณ์ไว้ว่า เราจะสามารถขายรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นนี้ได้อย่างน้อย 30,000 คัน ซึ่งเป็นผลตอบแทนในการลงทุนที่ดี นั่นคือเหตุผลของการเปิดตัวปอร์เช่บ็อกซเตอร์ (Boxster) ในปี 1996 หนึ่งปีก่อนการมาถึงของ 996 ที่ได้เปิดตัวตามมาในปี 1997 และแผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม รถสปอร์ตปอร์เช่ 911 รุ่นตัวถัง 996 มียอดจำหน่ายมากกว่า 30,000 คัน ในทุก ๆปี และตัวเลขยอดขายรวมทุกรุ่นอยู่ระหว่าง 50,000 – 60,000 คัน
เมื่อพิจารณาเฉพาะภายในองค์กร ไม่เคยมีปัญหาด้านเทคนิคเกิดขึ้นกับแนวคิด หรืองานดีไซน์ เว้นเพียงแต่รูปแบบ และผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาชุดโคมไฟหน้า ที่มีการรวมเอาไฟหรี่ และไฟเลี้ยว เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้เกิดกระแสความไม่พึงพอใจจากสื่อมวลชนหลังเปิดตัวไม่กี่เดือน สิ่งนี้สร้างความประหลาดใจให้แก่เหล่าดีไซเนอร์ ทั้งที่งานออกแบบดังกล่าวเพิ่งได้รับคำชื่นชมจากการเปิดตัวรถต้นแบบบ็อกซเตอร์ (Boxster) ก่อนหน้านี้ไม่นาน นี่คืองานดีไซน์ที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ ฟังก์ชั่นการทำงานทั้ง 5 รวมอยู่ในโมดูลเดียวกัน ทำให้มันมีต้นทุนที่ไม่สูง และสามารถประกอบเข้ากับตัวรถโดยใช้เวลาเพียง 1 นาทีในระหว่างขั้นตอนการผลิต” Harm Lagaaij อธิบายทิ้งท้าย
เดือนเมษายนปี 1998 ตัวถังเปิดประทุนคาบริโอเล็ต (Cabriolet) ตามมาเสริมทัพต่อจากรุ่นตัวถัง 2 ประตูในรุ่นคูเป้ (Coupé) ด้วยหลังคาไฟฟ้าที่เปิด และปิดสนิทได้ภายในเวลาเพียง 20 วินาที และเมื่อเปิดหลังคา ชิ้นส่วนผ้าใบจะถูกเก็บไว้ใต้ฝาครอบโลหะอย่างมิดชิดสวยงาม ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ ในการเก็บผ้าหลังคา
หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน ปอร์เช่ส่งคู่หูสปอร์ตขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel-drive มาสมทบเพิ่มเติม ถัดมาที่ปอร์เช่ 911 คาร์เรร่า โฟร์ (Carrera 4) รุ่นตัวถัง 2 ประตูคูเป้ (Coupé) และตัวถังเปิดประทุนคาบริโอเล็ต (Cabriolet) ใช้พื้นฐานการพัฒนาจากปอร์เช่ 911
ในเดือน มกราคม ปี 2000 จึงถึงคิวของรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel-drive คาร์เรร่า (Carrera) และตัวแรงเจ้าของความเร็ว 305 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอย่างปอร์เช่ 911 เทอร์โบ (Turbo) ขับเคลื่อน 4 ล้อ four-wheel-drive พกพาพละกำลังสูงสุด 420 แรงม้า จากขุมพลังเครื่องยนต์เทอร์โบคู่ แน่นอนว่า นี่คือหนึ่งในแผนการผลิตตั้งแต่เริ่มแรกของ August Achleitner โดยเขาอธิบายไว้ว่า “ในงานดีไซน์ของ 996 เราออกแบบอุโมงค์ของชุดเกียร์ให้มีขนาดกว้างเพียงพอสำหรับการติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อเพิ่มเติม ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการประนีประนอมในสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น เนื่องจากแผนการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันของ ปอร์เช่ บ็อกสเตอร์ (Boxster) จำเป็นต้องมีรายละเอียดในงานออกแบบที่เหมือนกัน แม้ว่ารถรุ่นนี้จะไม่เคยมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ all-wheel drive เลยก็ตาม”
ขณะที่รุ่นเทอร์โบ (Turbo) และ คาร์เรร่า โฟร์ (Carrera 4) ถูกวางแผนไว้ล่วงหน้า แตกต่างกับการเปิดตัวปอร์เช่ 911 GT3 (จีทีทรี) เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 1999 โดยรถรุ่นนี้ได้ถือกำเนิดบนโลกใบนี้ด้วยโอกาสที่วิ่งเข้าหา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดของการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต ปอร์เช่ต้องผลิตรถสปอร์ต 911 ขุมพลัง 360 แรงม้า ที่สามารถใช้งานบนถนนสาธารณะให้ได้ตามกฎ homologation และในฐานะของผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ต่อจากปอร์เช่ 911 คาร์เรร่า อาร์เอส (Carrera RS) “ความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และยอดจำหน่าย ไม่ใช่สิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่เราต้องการเป็นอันดับแรก”
Achleitner กล่าวยอมรับ “และ 911 จีทีทรี (GT3) เปรียบเสมือนสัญลักษณ์การเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ในแบรนด์ที่ไม่เหมือนใคร – เหตุผลคือปอร์เช่ 911 จีทีทรี (GT3) รุ่นตัวถัง 996 ทำให้เราสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างรถสปอร์ต 911 สำหรับใช้งานในชีวิตประจำวัน และรถจากสายการผลิตปกติที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬาความเร็ว” สิ่งที่ติดตามมาเกิดขึ้นเมื่อเดือน มกราคม ปี 2001 ด้วยปอร์เช่ 911 จีทีทู (GT2) ใช้พื้นฐานจากปอร์เช่ 911 เทอร์โบ (Turbo) ขุมพลังเครื่องยนต์บ๊อกเซอร์ขนาดความจุกระบอกสูบ 3.6 ลิตร ให้พละกำลังสูงสุดถึง 462 แรงม้า อีกทั้งยังเป็นรถรุ่นแรกที่ติดตั้งเบรกเซรามิกเป็นอุปกรณ์มาตรฐาน
ปอร์เช่ 911 รหัสตัวถัง 996 ได้รับการปรับโฉมครั้งใหญ่ในรุ่นปี 2002 ขยายความจุเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 3,596 cc และมีพละกำลังเพิ่มขึ้นที่ 320 แรงม้า เสริมทางเลือกใหม่ด้วย 911 ทาร์กา (Targa) และ 911 คาร์เรร่า โฟร์เอส คูเป้ (Carrera 4S Coupé) ซึ่งมีตัวถังกว้างแบบเดียวกับ 911 เทอร์โบ (Turbo) เวอร์ชั่นเปิดหลังคาของรุ่น โฟร์เอส (4S) ตามมาในปี 2003
จากนั้นปี 2004 ปอร์เช่นำเสนอตัวถังเปิดประทุน Cabriolet ของรุ่น เทอร์โบ (Turbo) รวมทั้งรุ่นพิเศษ 911 Carrera Coupé ‘40 Years of Porsche 911’ พละกำลัง 345 แรงม้า ช่วงล่างสปอร์ต และหลังคา sunroof ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2005 เพิ่มรุ่น เทอร์โบ เอส (Turbo S) ทั้งตัวถังสองประตู Coupé และ เปิดประทุน Cabriolet พกพาแรงม้า 450 ตัว ไม่เคยมีครั้งใดที่รถสปอร์ต 911 มีทางเลือกที่หลากหลายจนกระทั่งการมาถึงของรหัสตัวถัง 996 ตลอดอายุตลาด ปอร์เช่ทำยอดจำหน่ายรถสปอร์ตระดับตำนานรุ่นนี้ได้กว่า 175,000 คัน