“ไข้หวัดใหญ่” ไม่ใช่แค่ “ไข้ธรรมดา” อย่าชะล่าใจเมื่อมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เช็กให้ชัวร์! สัญญาณเตือนที่ไม่ควรมองข้าม ต้องรีบรับมือก่อนจะสายเกินไป อย่าปล่อยให้ความคิดว่า “แค่ไข้” ทำให้คุณเสี่ยงกับอันตรายร้ายแรง เพราะอาการลุกลามเกิดภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หัวใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิตได้!
พญ.มัณฑนา สันดุษฎี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้ข้อมูลว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี โดยไข้หวัดใหญ่มี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดทั่วไป
“ไข้หวัดใหญ่” ไม่ใช่แค่ “ไข้ธรรมดา” อย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากเชื้อไวรัสทั้งสองชนิด มีความแตกต่างกันอย่างมาก ไข้หวัดธรรมดาเกิดจากไวรัสหลายสายพันธุ์ เช่น ไรโนไวรัส (Rhinovirus) โคโรนาไวรัส (Coronavirus) แต่ “ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza Virus) สามารถทำให้เกิดอาการที่รุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา โดยอาการของ “ไข้หวัดใหญ่” คือ ไข้สูงเฉียบพลัน, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อต่อ, ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บคอ ไอแห้ง หรือมีเสมหะ, อ่อนเพลียมาก, บางครั้งอาจมีอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย

สำหรับคนไข้บางรายเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่อาจมีอารการไม่รุนแรง แต่ในบางรายอาการอาจหนักมากและนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น
1.ปอดอักเสบติดเชื้อ (Pneumonia) เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้เกิดปอดอักเสบและติดเชื้อที่ปอด ส่งผลให้หายใจลำบาก และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหากอาการรุนแรง
2.ภาวะทางเดินหายใจล้มเหลว (RespiratoryFailure) การติดเชื้อที่รุนแรงอาจทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ ECMO (Extracorporeal Membrane Oxygenation)
3.หัวใจวาย (Heart Failure) ไข้หวัดใหญ่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นหัวใจวาย
4.ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ในบางกรณีที่รุนแรง ไข้หวัดใหญ่อาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท อาจทำให้ปวดศีรษะรุนแรง ชัก หรือหมดสติ
5.ภาวะกล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) ในบางกรณีรุนแรง อาจทำให้กล้ามเนื้อสลาย ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะไตวายเฉียบพลัน

พญ.มัณฑนา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แม้แต่ผู้ที่มีสุขภาพดี ก็ยังเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งอาการป่วยมักอยู่ระหว่าง 3 วัน ถึง 1 สัปดาห์ แต่บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียยาวนานได้หลายสัปดาห์ การรักษาแม้โรคไข้หวัดใหญ่ในคนที่อาการไม่มากสามารถหายเองได้ แต่การพบแพทย์เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด การได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่เช่น โอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) จะทำให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ลดระยะเวลาการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น และลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
โดยปัจจุบันการป้องกัน “ไข้หวัดใหญ่” ที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการ
ใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ และการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วยลดความรุนแรงของอาการ และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น ปอดอักเสบและหัวใจวาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ที่จำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนไข้หวัด
ใหญ่ทุกปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง ได้แก่
– เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี
– ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
– ผู้พิการทางสมอง
– ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย มะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน
– ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
– ผู้ป่วยโรคอ้วน และหญิงตั้งครรภ์
พญ.มัณฑนา กล่าวว่า “วัคซีนไข้หวัดใหญ่” มีการอัปเดตทุกปีโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ครอบคลุมเชื้อไวรัสที่มีความเสี่ยงระบาดสูง วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 หรือ 4 สายพันธุ์ที่ฉีดป้องกันไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และ B อีก 1 หรือ 2 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งการฉีดวัคซีนจะช่วยลดความรุรแรงของอาการ ลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อน ลดอัตราการติดเชื้อและลดโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกชนิดหนึ่งที่แนะนำให้ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง, ผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด ฉีดควบคู่กับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีนนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine) วัคซีนชนิดนี้จะช่วยลดความรุนแรงของการเกิดปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสและการติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อตัวนี้ โดยวัคซีนนี้ปัจจุบันฉีดเพียง 1 เข็ม (PCV20) และป้องกันได้ตลอดชีวิต
สำหรับการดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากไข้หวัดใหญ่ เราทุกคนสามารถป้องกันตัวเองจากไข้หวัดใหญ่ได้ง่าย ๆ ด้วยการ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ, รับประทานอาหารที่มีประโยชน์, พักผ่อนให้เพียงพอ, ล้างมือบ่อย ๆ และที่สำคัญต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี