เผยภาพรวมตลาดรถยนต์ของเมืองไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีทิศสดใส โดยมียอดการจำหน่ายทั้งสิ้น 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รถในทุกเซกเม้นท์ต่างมีปริมาณการขายสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากยอดการส่งมอบรถยนต์ที่เกิดขึ้นในช่วงงาน Motor Expo ที่ผ่านมา ขณะที่การคาดการณ์ตลาดรวมในเดือนมีนาคม 2565 ที่ใกล้จะจบเดือนมีแนวดฯมสดใส ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธ์ใหม่ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 มียอดการขายรวมทั้งสิ้น 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 26.3% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 22,590 คัน เพิ่มขึ้น 19.1% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 51,899 คัน เพิ่มขึ้น 29.8% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 41,447 คัน เพิ่มขึ้น 33%
ตลาดรถยนต์เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีปริมาณการขาย 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 26.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 19.1% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 29.8% เป็นผลจากความต้องการใช้รถยนต์ทั้งเพื่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการใช้งานส่วนตัวของลูกค้าปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีแรงส่งจากยอดจองรถในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป รวมทั้งช่วงแคมเปญสิ้นปีที่ค่ายรถยนต์ยังคงทยอยส่งมอบรถถึงมือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมอย่างเป็นรูปธรรม
ตลาดรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2565 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากการปรับตัวของประชาชนในการอยู่ร่วมกับ COVID 19 โดยไม่ส่งผลกระทบมากนัก ทำให้สามารถใช้ชีวิต และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เกือบเป็นปกติจนกลายเป็น New Normal ในชีวิตประจำวัน แต่อย่างไรก็ดีการดำเนินกิจกรรมการตลาด และการแนะนำรถรุ่นใหม่จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ให้มีความน่าสนใจ รวมถึงข้อเสนอพิเศษ และกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ เพื่อปูทางสู่งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ในช่วงปลายเดือน เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยผลักดันอัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ด้วยอีกทางหนึ่ง โดยมีปัจจัยลบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นตัวฉุดความมั่นใจของผู้บริโภคให้ชลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์ออกไป
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนกุมภาพันธ์ 2565
1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 74,489 คัน เพิ่มขึ้น 26.3%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 24,998 คัน เพิ่มขึ้น 57.2% ส่วนแบ่งตลาด 33.6%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 20,193 คัน เพิ่มขึ้น 22.6% ส่วนแบ่งตลาด 27.1%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 7,090 คัน ลดลง 21.3% ส่วนแบ่งตลาด 9.5%
2.ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 22,590 คัน เพิ่มขึ้น 19.1%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 6,091 คัน เพิ่มขึ้น 50.2% ส่วนแบ่งตลาด 27.0%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 5,417 คัน ลดลง 31.2% ส่วนแบ่งตลาด 24.0%
อันดับที่ 3 มาสด้า 2,042 คัน เพิ่มขึ้น 11.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.0%
3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 51,899 คัน เพิ่มขึ้น 29.8%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 20,193 คัน เพิ่มขึ้น 22.6% ส่วนแบ่งตลาด 38.9%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 18,907 คัน เพิ่มขึ้น 59.7% ส่วนแบ่งตลาด 36.4%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 2,848 คัน เพิ่มขึ้น 28.2% ส่วนแบ่งตลาด 5.5%
4.ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 41,447 คัน เพิ่มขึ้น 33%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 18,689 คัน เพิ่มขึ้น 21.4% ส่วนแบ่งตลาด 45.1%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 16,736 คัน เพิ่มขึ้น 71.1% ส่วนแบ่งตลาด 40.4%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 2,830 คัน เพิ่มขึ้น 30.5% ส่วนแบ่งตลาด 6.8%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 5,725 คัน
โตโยต้า 2,915 คัน – อีซูซุ 1,659 คัน – มิตซูบิชิ 697 คัน – ฟอร์ด 391 คัน – นิสสัน 63 คัน
5. ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 35,722 คัน เพิ่มขึ้น 35.5%
อันดับที่ 1 อีซูซุ 17,030 คัน เพิ่มขึ้น 25.7% ส่วนแบ่งตลาด 47.7%
อันดับที่ 2 โตโยต้า 13,821 คัน เพิ่มขึ้น 76.2% ส่วนแบ่งตลาด 28.7%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 2,133 คัน เพิ่มขึ้น 30.2% ส่วนแบ่งตลาด 6.0%