33.7 C
Bangkok
Tuesday, February 4, 2025
มอเตอร์ไซค์​ honda
มอเตอร์ไซค์​ honda
previous arrow
next arrow

OR – กรมสรรพสามิต – จุฬาฯ ร่วมขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอนและใช้พลังงานอย่างยั่งยืน

OR กรมสรรพสามิต และคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมขับเคลื่อนการรับรู้ภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีภายในของกรมสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนและสนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยไม่ส่งผลกระทบกับราคาน้ำมันที่สถานีบริการ

ดร.เผ่าภูมิ  โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทวงการคลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมความเข้าใจเรื่องภาษีคาร์บอนและสนับสนุนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยมี หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ดร. กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต และ รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันดำเนินการด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมุ่งส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยและนวัตกรรมด้านการส่งเสริมพฤติกรรมการใช้พลังงานที่เอื้อต่อการเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ด้านการขยายผลและต่อยอด ผ่านการบูรณาการการจัดกิจกรรมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลและผลงานวิจัย และด้านการพัฒนากลไกและนวัตกรรม ด้วยการพัฒนากลไกติดตามพฤติกรรมการใช้พลังงาน และสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี

ดร.เผ่าภูมิกล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับกลไกราคาคาร์บอนในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นการกำหนดให้มีกลไกราคาคาร์บอนในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งเป็นกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Pricing) แรกของประเทศไทยที่แสดงสัดส่วนของต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมในการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยสามารถคำนวณได้จากค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) เป็นค่าที่สามารถคำนวณได้ทางวิทยาศาสตร์คูณกับราคาคาร์บอน (Carbon Price) ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าซึ่งภาครัฐเป็นผู้กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้มาตรการทางภาษีนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาร่างกฎกระทรวงฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้

หม่อมหลวงปีกทอง เปิดเผยว่า ความร่วมมือของ OR กรมสรรพสามิตและคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการรับรู้ภาษีคาร์บอนและพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน สร้างความตระหนักรู้เรื่องภาษีคาร์บอนของผู้ใช้พลังงาน ด้วยความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ทางด้านนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาษีคาร์บอน ซึ่งมาตรการนี้ไม่ส่งกระทบต่อราคาน้ำมัน และไม่เพิ่มภาระให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการออกกฎกระทรวงกำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีน้ำมันในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ทั้งนี้ OR จะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานรวมถึงทรัพยากรตามที่ทั้ง 3 ฝ่ายตกลงร่วมกัน นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบาย OR SDG ที่มุ่งสร้างสมดุลในทุกมิติ โดยเฉพาะด้าน  G: Green ที่มุ่งสร้างโอกาสเพื่อสังคมสะอาดและการสนับสนุนให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนอีกด้วย

ความร่วมมือครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยเฉพาะเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี พ.ศ. 2608

Related Articles

Stay Connected

269FansLike
2,760SubscribersSubscribe
- Advertisement -spot_img

Latest Articles