มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล จัดเทศกาลฉายหนังครั้งที่ 5 ณ โรงภาพยนตร์ SF WORLD @ CENTRAL WORLD เพื่อมอบประสบการณ์จริงแก่นักศึกษาในสาขาวิชานี้เพื่อการเติบโตในเส้นทางสายอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมืออาชีพ โดยมีผู้กำกับ ดารานักแสดงมืออาชีพ นักศึกษา สื่อมวลชน และผู้สนใจร่วมงานอย่างคับคั่ง
นายธีระพันธ์ ชนาพรรณ อาจารย์หัวหน้าสาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงการเทศกาลฉายหนังครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นวิชาที่เกี่ยวกับการทำโครงงานภาพยนตร์และดิจิทัล และนำมาขยายผลที่ทางมหาวิทยาลัยจัดงานอีเว้นท์ให้กับนักศึกษา เพื่อได้สัมผัสการแสดงผลงานที่เหมือนการสร้างหนังจริงในทุกขั้นตอน เพื่อการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชน
“เราอยากจะเอาผลงานของนักศึกษามาต่อยอดให้คนทั่วไปได้เห็น โครงการนี้เริ่มต้นจากการที่เราใช้นักวิชาชีพหลายๆ ท่าน เช่น พี่ปรัชญา ปิ่นแก้ว, พี่อ๊อด และพี่บัณฑิต ทองดี เป็นต้น มาเป็นกรรมการตัดสินผลงาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่ คิดบท วางแผน การผลิต ตัดออกมาเป็นงานโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นแบบนี้ อยากให้เด็กๆ ได้ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ากับผู้กำกับจริงเข้ามาชมฟรีที่โรงภาพยนตร์” นายธีระพันธ์ กล่าว พร้อมระบุว่า ปีนี้จัดในส่วนของการชมภาพยนตร์ 2 โรง คือ โรงที่ 15 และโรงที่ 8 แต่ละโรงเราจัดให้ชม 2 รอบ ภาพยนตร์มีทั้งหมด 13 เรื่อง แต่ละเรื่องก็ขึ้นอยู่กับแรงบันดาลใจของผู้กำกับว่าต้องการจะสื่อสารอะไรออกไป
อาจารย์หัวหน้าสาขาฯ ระบุว่า หนังบางส่วนหรือบางเรื่อง อาจมีแนวคิดที่แตกต่างกันผ่านบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้น เนื่องจากผลงานปีนี้เป็นปีที่เด็กๆ ผ่านช่วง Covid-19 หรือกำลังเรียนอยู่ก็เจอ Covid-19 ทำให้ออกกองถ่ายลำบากขึ้น การทำงานนี้จะใช้ระยะเวลา 1 เทอม คือ 4 เดือน ทางมหาวิทยาลัยเชื่อมั่นในศักยภาพ เพื่อส่งเสริมและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงผลงานกันทุกคน
“เราภูมิใจทุกๆ เรื่องที่พวกเขาถ่ายทำออกมา ซึ่งต้องผ่านอะไรหลายอย่างกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ผ่านกรรมการ ผ่านตัวเอง ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนที่เรียนรู้ มีประสบการณ์สามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ และถ้าเรามีไอเดียกว้างๆ ด้วยแล้วย่อมสามารถที่จะต่อยอดได้เร็วกว่าปกติ ดังนั้น เด็กทำฟิล์มไม่จำเป็นที่จะต้องทำภาพยนตร์อย่างเดียวนะ อาจจะปรับไปทำงานภาพยนตร์โฆษณาก็ได้ จะไปทำซีรี่ส์ก็ได้ จะไปทำ MV ก็ได้ แต่อยู่ที่ว่าความสามารถของใครจะไปทางไหน แค่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาและทำออกมาให้ดีที่สุดในแพลตฟอร์มที่แตกต่างกัน”
นายสินชัย เอื้ออัครวงษ์ นักแสดงรุ่นใหญ่ที่คุ้นหน้าคุ้นตากันในละครหลายช่องและบทคุณพ่อในซีรีส์วายและหนังโฆษณาหลากหลายผลงาน เปิดเผยว่า รับเชิญแสดงในหนังสั้นเรื่อง “บรรเลง” ของนักศึกษาผู้หญิงซึ่งเป็นผู้กำกับที่ขอชื่นชมว่าเก่งมากฝีมือระดับมืออาชีพในการทำงาน ละเอียดและไม่ปล่อยผ่านในทุกขั้นตอน และจากการได้ชมผลงานทั้ง 13 เรื่อง ทำให้รู้สึกถึงความคิดอ่านของเด็กรุ่นใหม่ให้อะไรกับเรานักแสดงมากทีเดียว ให้ความรู้สึกของคนที่มีปม และจะแก้ไขปมนั้นอย่างไร และทั้ง 13 เรื่อง มี เรื่องความคิด การแก้ไข และการใช้ชีวิตอย่างไรของคนในปัจจุบัน ซึ่งมีปมหมดเลย ทั้งเรื่องของความรัก พ่อกับลูก ความรักของหนุ่มสาว และก็เรื่องของโชคลาง มีหลายเรื่องที่เด็กสร้างมาค่อนข้างจะเหมือนกับภาพยนตร์มืออาชีพที่มีการถ่ายทำไปแล้ว เช่น เรื่อง”ของแขก” ซึ่งจะเข้าฉายในเครือเมเจอร์ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นเรื่องของโชคลางเหมือนกัน
“ในฐานะนักแสดงดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในเทศกาลของมหาวิทยาลัย และได้แสดงในหนังด้วย ปกติผมแสดงในละครช่อง 5 ช่อง 3 ช่อง 7 อยู่แล้ว แต่ในหนังของเด็กผมได้เล่นเต็มตัว ทำให้มองเห็นการพัฒนาภาพยนตร์ของคนรุ่นใหม่ ไอเดียใหม่ๆ เราอาจย้อนกลับไปดูหนังต่างประเทศที่เราเคยคิดว่าคือความเพ้อฝันในอดีต ไม่ว่าจะเป็นหนังซอมบี้ ที่เป็นสงครามเชื้อโรคหรือการคุยเห็นหน้ากันทางมือถือ และมันคือความจริงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน จะเห็นว่าภาพยนตร์ต่างประเทศสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับโลกอนาคตไว้แล้ว และการมาร่วมแสดงครั้งนี้ ทำให้รู้จักและมองเห็นถึงความคิดของคนรุ่นใหม่ ผมร่วมงานกับน้องๆ ไม่ต่างกับการทำงานกับมืออาชีพครับ”
นายสินชัย กล่าวด้วยว่า ยอมรับว่าทางมหาวิทยาลัยและเด็กรุ่นใหม่ ให้ความพิถีพิถันในการสร้างภาพยนตร์ที่จะเติบโตโลดแล่นในวงการบันเทิง อนาคตน้องๆ มีโอกาสสู้ในพรมแดงได้อย่างแน่นอน และอยากให้กำลังใจทุกทีมว่า ทำได้ดีมาก ส่วนมุมมองในฐานะนักแสดงหนังซีรีส์วาย ที่เป็นกระแสฮิตอยู่ในปัจจุบันว่า ซีรี่ส์วายเป็นสิ่งที่สะท้อนสังคมมากกว่าที่จะเป็นกระแสนิยม ในเนื้อหาจะเป็นปมปัญหาของแต่ละคน ถ้าเรามองให้ดีหนังแต่ละเรื่องกำลังจะบอกอะไรเรา ดูเพื่อวิเคราะห์ เราจะเห็นว่าเขาสร้างมาเพื่อให้เรารู้ว่าสิ่งที่เรากำลังมองนั้นต้องแก้ไขอย่างไร บุคคลที่เป็นเพศที่สาม เขามีปัญหาอะไร ถ้าเรามีลูกแบบนั้นเราต้องดูแลปกป้องให้ความคิดเขาอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและถูกต้อง
“ผมมองว่าฐานที่สำคัญที่สุดคือครอบครัวเราต้องยอมรับ ให้โอกาสเขาให้ได้ เพศที่สามในวงการบันเทิงมีจำนวนมาก และมีหลายคนประสบความสำเร็จในอาชีพ หากพ่อแม่เข้าใจก็ไม่จำเป็นต้องไปปรึกษาคนอื่น สุดท้ายผมขอฝากงาน ผลงาน Love Sindome หรือ รักโคตร ๆ โหดอย่างมึง..3 และ “ของแขก”ผลงานสะท้อน หลายมุม หลายคิดของสังคม วัฒนธรรมไทย ไว้ด้วยครับ” นักแสดงรุ่นใหญ่กล่าว
นายเกรียงไกร มณวิจิตร ผู้กำกับหนุ่มคนรุ่นใหม่ ฝีมือระดับอินเตอร์ จากภาพยนตร์เรื่อง “รักนะซุป ซุป” มาร่วมชมผลงานของนักศึกษาในเทศกาลหนังครั้งนี้ด้วย แสดงความเห็นว่า การได้ร่วมชมผลงานหนังสั้นของนักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม 13 เรื่อง รู้สึกประทับใจมากเพราะเห็นถึงมุมมองของผู้กำกับรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปเป็นผู้กำกับอาชีพในมุมใหม่และสถานการณ์ที่เจอในปัจจุบันมันสะท้อนออกมาในหนังทำให้เห็นได้ว่าเด็กวัยรุ่นเผชิญกับอะไร เขาจึงสะท้อนออกมาในหนัง นั่นคือตัวตน ทำให้เราได้เห็นภาพสะท้อนถึงการพัฒนาการในการสร้างหนังสั้นของเด็กๆ มากขึ้น ในฐานะผู้กำกับคิดว่า กระแสวงการภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายและดีขึ้นมาก
“ผมทำเรื่อง ของแขก เป็นเรื่องราวของ ไสยศาสตร์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มมุสลิม เป็นแนวของ 5 จังหวัดชายแดนใต้ ถือเป็นเรื่องใหม่มากที่ไม่เคยมีใครทำ จึงขอฝากถึงน้องรุ่นใหม่ว่าการทำหนังต้องใช้ประสบการณ์และสนใจวิวัฒนาการ การเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ ที่พัฒนาไปมาก เราต้องวิวัฒนาตามโลก ดูงานของต่างประเทศ เช่น เกาหลี หรือหนังต่างประเทศอื่นๆ แต่เท่าที่ชมผลงานของเด็กวันนี้วงการภาพยนตร์ไทยมีอนาคตมากครับ”