ตลาดรถยนต์เมืองไทยเดือนตุลาคม 2565 สตาร์ตเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น พร้อมต้อนรับลมหนาวเปิดไตรมาส 4 ด้วยยอดจำหน่ายที่ 64,618 คัน เติบโต 0.2% ส่งผลให้มีตัวเลขยอดขายสะสมตลอด 10 เดือนของปีอยู่ที่ 698,305 คัน เติบโต 17.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดยอดขายเดือนพฤศจิกายน นี้ เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการขับเคลื่อน ค่ายรถต่างๆ จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย
นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนตุลาคม 2565 มีตัวเลขการขายรวมทั้งสิ้น 64,618 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 19,468 คัน ลดลง 2.4% รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 45,150 คัน เพิ่มขึ้น 1.4% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ มีจำนวน 35,447 คัน เพิ่มขึ้น 0.3% พร้อมยอดขายสะสม 10 เดือนที่ 698,305 คัน เติบโต 17.1%
นายสุรศักดิ์ เปิดเผยถึงความเคลื่อนไหวของตลาดรถยนต์ในเดือนตุลาคมว่า “ตลาดรถยนต์เดือนตุลาคม 2565 มีปริมาณการขาย 64,618 คัน เพิ่มขึ้น 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาด้วยตัวเลข 19,468 คัน เป็นผลมาจากการชลอการตัดสินใจซื้อของลูกค้าในช่วงปลายฤดูฝน ซึ่งลูกค้ายังมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นทั่วไป ขณะที่ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ไม่หวั่นไหว ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเจริญเติบโต 1.4% และตัวเลขการขาย 45,150 คัน สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่กำลังพลิกฟื้นดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการขาดแคลนชิพในการผลิตยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการส่งมอบรถยนต์ใหม่ถึงมือลูกค้าได้ทันต่อความต้องการ”
นายสุรศักดิ์ ประเมินแนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายนว่า “ตลาดรถยนต์เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ช่วง Hi-Season ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ด้วยตัวเลขการขายสะสม 10 เดือนที่มากถึง 698,305 คัน เติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา 17.1% เดินหน้าเต็มตัวรับเทศกาลการขายประจำปี MOTOR EXPO ในช่วงต้นเดือนธันวาคม ซึ่งหลายค่ายรถยนต์ต่างประกาศแคมเปญ “เงื่อนไขเดียวกับ MOTOR EXPO” กระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือนนี้ เพื่อหวังปิดตัวเลขการขายสิ้นปีอย่างงดงาม โดยมีปัจจัยเสริมคือภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาคึกคัก ช่วยกระตุ้นตลาดรถเช่า และรถตู้ให้ดีดตัวกลับมา หลังจากที่ซบเซามาตลอดระยะเวลา 3 ปี ของการแพร่ระบาด โควิด-19

สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนตุลาคม 2565
- ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 64,618 คัน เพิ่มขึ้น 0.2%
- อันดับที่ 1 โตโยต้า 25,439 คัน เพิ่มขึ้น 11.4 % ส่วนแบ่งตลาด 39.4%
- อันดับที่ 2 อีซูซุ 14,087 คัน ลดลง 8.6% ส่วนแบ่งตลาด 21.8%
- อันดับที่ 3 ฮอนด้า 5,909 คัน ลดลง 17.7% ส่วนแบ่งตลาด 9.1%
- ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 19,468 คัน ลดลง 2.4%
- อันดับที่ 1 โตโยต้า 6,615 คัน เพิ่มขึ้น 17.1 % ส่วนแบ่งตลาด 34.0%
- อันดับที่ 2 ฮอนด้า 5,454 คัน ลดลง 18.0% ส่วนแบ่งตลาด 28.0%
- อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 1,489 คัน ลดลง 5.3% ส่วนแบ่งตลาด 7.6%
- ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 45,150 คัน เพิ่มขึ้น 1.4%
- อันดับที่ 1 โตโยต้า 18,824 คัน เพิ่มขึ้น 9.5% ส่วนแบ่งตลาด 41.7%
- อันดับที่ 2 อีซูซุ 14,087 คัน ลดลง 8.6% ส่วนแบ่งตลาด 31.2%
- อันดับที่ 3 ฟอร์ด 5,043 คัน เพิ่มขึ้น 78.6% ส่วนแบ่งตลาด 11.2%
- ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*) ปริมาณการขาย 35,447 คัน เพิ่มขึ้น 0.3%
- อันดับที่ 1 โตโยต้า 15,020 คัน เพิ่มขึ้น 0.7%ส่วนแบ่งตลาด 42.4%
- อันดับที่ 2 อีซูซุ 12,795 คัน ลดลง 8.6% ส่วนแบ่งตลาด 36.1%
- อันดับที่ 3 ฟอร5,043 คัน เพิ่มขึ้น 78.6% ส่วนแบ่งตลาด 14.2%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 5,361 คัน โตโยต้า 2,451 คัน-ฟอร์ด 1,316 คัน อีซูซุ 1,044 คัน-มิตซูบิชิ 459 คัน-นิสสัน 91 คัน
- ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 30,086 คัน ลดลง 3.5%
- อันดับที่ 1 โตโยต้า 12,569 คัน ลดลง 2.1% ส่วนแบ่งตลาด 41.8%
- อันดับที่ 2 อีซูซุ 11,751 คัน ลดลง 10.4% ส่วนแบ่งตลาด 39.1%
- อันดับที่ 3 ฟอร์ด 3,727 คัน เพิ่มขึ้น 59.9% ส่วนแบ่งตลาด 12.4%