สถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 10 – 14 เม.ย. 66 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 17 – 21 เม.ย. 66 โดยตลาดน้ำมันสำเร็จรูปเบรนท์ (ICE Brent) ราคา 85.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +0.90 ตลาดน้ำมันสำเร็จรูป เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) ราคา 81.84 เหรียญต่อบาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +1.23 เหรียญ สหรัฐฯ ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปดูไบ (Dubai) ราคา 85.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ปรับราคาเพิ่มขึ้น +0.98 เหรียญ สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปซื้อซื้อขายล่วงหน้าประเทศสิงคโปร์ ราคาเบนซินออกเทน 95 ปรับราคาลดลง -0.48 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 104.16 เหรียญ สหรัฐฯ ราคาน้ำมันดีเซลราคาปรับราคาลดลง –2.62 เหรียญ สหรัฐฯ มาเป็นราคา 101.18 เหรียญสหรัฐฯ
ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3 ท่ามกลางตามความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้น โดยรายงานฉบับเดือน เม.ย. 66 ของ IEA ประเมินอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 65 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 99.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 66 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 101.94 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะเดียวกัน เหตุอุปทานน้ำมันชะงักชะงันจากการส่งออกน้ำมันดิบจากเขตปกครองพิเศษเคอร์ดิสถานทางตอนเหนือของอิรักผ่านท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งสูบถ่ายน้ำมันดิบที่ระดับ 400,000-450,000 บาร์เรลต่อวัน (จากขีดความสามารถในการสูบถ่าย 700,000 บาร์เรลต่อวัน) หยุดดำเนินการ 25 มี.ค. 66 ยังไม่กลับมาดำเนินการ เนื่องจากตุรกีและรัฐบาลกลางอิรักยังเจรจาเรื่องค่าชดเชย 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ตุรกีต้องจ่ายให้อิรักก่อนกลับมาสูบถ่ายน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังตัวเลขเศรษฐกิจภาคการผลิตของสหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น ล่าสุด Thomas Barkin ประธาน Fed สาขา Richmond เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขับเคลื่อนไปได้กับอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงเติบโต ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% จากระดับปัจจุบันระดับที่ 4.75-5.00% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 2-3 พ.ค. 66
ในสัปดาห์นี้คาดการณ์ราคา ICE Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 83-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากอุปทานในตลาดโลกตึงตัวมากขึ้นจาก OPEC+ ขยายระยะเวลาและลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมถึงสิ้นปี 66
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
– สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 1/66 อยู่ที่ +4.5% จากปีก่อนหน้า ขยายตัวจากไตรมาส 4/65 ที่ +2.9% จากปีก่อนหน้า สูงสุดตั้งแต่ไตรมาส 1/65
– หน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs: GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 66 เพิ่มขึ้น 22.5% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
– Bloomberg รายงานรัสเซียส่งออกน้ำมันดิบทางทะเล สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 3.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน
– กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2566 อยู่ที่ +2.8% จากปีก่อนหน้า (ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่ +2.9% จากปีก่อนหน้า) เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวจากนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่สูงกว่าคาดการณ์เดิม